วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้จักกับ ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ



ชินกร ไกรลาศ หรือ ดร.ชิน ฝ้ายเทศ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นนักร้องลูกทุ่งที่ประยุกต์เพลงพื้นบ้านมาผสมผสานกับการแสดงดนตรีลูกทุ่งในหลายลักษณะ ทั้งลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2541

ชินกร ไกรลาศ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคุ้งยาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ได้รับปริญญาดุษฏีกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิต จากวิทยาลัยครูธนบุรี มีความสนใจในเพลงพื้นบ้านตั้งแต่ยังเยาว์วัยโดยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวง พร้อมกับมีเพื่อนรักกันมากเขาชื่อ ทิว สุโขทัย หลังจากนั้นได้ชมการแสดงของครูพยงค์ มุกดา จึงไปสมัครเป็นนักร้อง มีผลงานเพลงบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในเพลง “ลูกทุ่งชีวิต” จนมีชื่อเสียงในการขับร้องเพลงลูกทุ่งมาตามลำดับ มีผลงานเพลงสร้างชื่อได้แก่ เพลงยอยศพระลอ, เพชฌฆาตใจ, เพชรร่วงในสลัม

ชินกรเป็นนักร้องลูกทุ่งที่ประยุกต์เพลงพื้นบ้านมาผสมผสานกับการแสดงดนตรีลูกทุ่งพื้นบ้าน ในหลายลักษณะ ทั้งลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว และต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2541

เพลงยุคแรกที่ชินกร ขับร้องคือ
เพลง เพชรฆาตใจ ผลงานคุณครู ประดิษฐ์ อุตตะมัง
เพลง ลูกทุ่งเสี่ยงเทียน ผลงานคุณครู พยงค์ มุกดา
เพลง ยอยศพระลอ คำร้อง - ทำนอง คุณครู พยงค์ มุกดา ( คำเกริ่นขึ้นต้นเพลงผลงานคุณครู ไถง สุวรรณทัต )
เพลง เพชรร่วงในสลัม ผลงานคุณครู ไพบูลย์ บุตรขัน
เพลง บ้านไร่น่ารัก ผลงานคุณครู ไพบูลย์ บุตรขัน
เพลง อยากกินคนสวย
เพลง กลองยาวชินกร ผลงานคุณครู พยงค์ มุกดา
เพลง กลองยาวบันลือโลก ฯลฯ เป็นต้น

ผลงานภาพยนตร์ที่เคยแสดง

ชาติลำชี ผลงานคุณครู รังสี ทัศนพยัคฆ์ - มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ นำแสดง ปีพุทธศักราช 2512
กิ่งแก้ว ผลงานคุณครู ชาลี อินทรวิจิตร - กำกับการแสดง มิตร ชัยบัญชา และ สุทิสา พัฒนนุช - โสภา สภาพร นำแสดง ปีพุทธศักราช 2513
ไอ้ทุย ผลงานคุณครู ดอกดิน กัญญามาลย์ - สมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฎร์ นำแสดง ปีพุทธศักราช 2514
ฯลฯ เป็นต้น

รางวัล

ชนะเลิศการประกวดดนตรีลูกทุ่งไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ ปี 2513
รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากการขับร้องเพลงยอยศพระลอ ปี 2514
ได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องลูกทุ่งดีเด่น ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2532
ได้รับพระราชทานรางวัลนักร้องเพลงไทยผู้ออกเสียงภาษาไทยถูกต้อง เนื่องในงานสัมมนาการใช้ภาษาไทยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องลูกทุ่งดีเด่น ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี 2534
ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2537

อ้างอิง
นายชิน ฝ้ายเทศ (ชินกร ไกรลาศ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๔๒
ชินกร ไกรลาศ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

คลิป เพลงยอยศพระลอ จากงาน มหกรรมอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1



เครดิต
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3_%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A8

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชชสุดา สิริโสภาพัณวดี




พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว โดยพระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน และใช้คำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ออกคำนำหน้าพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ และคำนำหน้าพระนามนี้ยังใช้จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา




พันโท(หญิง) สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518) พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิม คือ คุณประไพ สุจริตกุล เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) เข้ารับราชการฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้ออกการออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาแทน พระองค์สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 สิริพระชนมายุได้ 73 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระหทัยวายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เวลา 07 นาฬิกา 55 นาที สิริพระชนมายุ 73 พรรษา ณ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อย(ต่อมาทรงเลื่อนเป็นพระโกศทองน้อย) ฉัตรตาดทอง 5 ชั้นกางกั้นเหนือพระโกศพระศพ ประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าลายสลัก ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวัน กลางคืน รับพระราชทานฉันเช้าวันละ 8 รูป ฉันเพลวันละ 4 รูป และไว้ทุกข์ในพระราชสำนักกำหนด 15 วัน เมื่อถึงวาระการบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง (7 วัน) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ (50 วัน) และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จแทนพระองค์ (100 วัน)[8] เมื่อถึงวาระพระราชทานเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)




พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าชายทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในเจ้าจอมมารดาเรียม ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชินี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อปี พ.ศ.2349 พระราชบิดาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระมหาอุปราชกรมบวรสถานมงคล จึงได้รับเลื่อนพระยศตามพระราชบิดาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ต่อมาเมื่อพระชนมายุครบผนวชตามพระราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอัยยิกาธิราชโปรดเกล้าฯ จัดพิธีผนวชให้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จออกในพิธีผนวชครั้งนี้ด้วยแม้จะมีอายุถึง 72 พรรษาแล้วก็ตาม ด้วยทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่ในตอนนั้น เมื่อผนวชแล้วทรงเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม

ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 26 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสถาปนาขึ้นดำรงพระยศเจ้ากรมมีพระนามกรมว่า “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ในปี พ.ศ. 2356 ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายแขนงวิชาไม่ว่าจะเป็นด้านพระพุทธศาสนา อักษรศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพาณิชยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ทำให้เป็นที่วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้กำกับราชการโดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง เช่น กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และยังทรงนับหน้าที่พิจารณาพิพากษาความฎีกาแทนพระองค์อยู่เสมอ ทำให้ทรงรอบรู้ราชการต่าง ๆ ของแผ่นดินเป็นอย่างดี

ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ทรงมิได้มอบพระราชสมบัติให้กับพระราชโอรสพระองค์ใด เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ประชุมปรึกษาหารือแล้วลงมติว่า ควรถวายพระราชสมบัติให้แก่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สืบราชสมบัติแทนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี พระนาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้ความชำนาญทางด้านการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านพ่าง ๆ ที่นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นเอนกอนันต์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมิได้สถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นพระบรมราชินี คงมีแต่เพียงเจ้าจอมมารดา และสนมเอกเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิมาน องค์ข้างตะวันตก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สิริพระชนมายุได้ 63 พรรษา 2 วัน รวมเวลาที่ทรงครองอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นเวลา 26 ปี 8 เดือน

บทสรุป
พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศอย่างเอนกอนันต์ ด้วยเมื่อทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนฐานะของประเทศดีขึ้นอย่างมาก ทรงติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศอย่างมาก ทำให้มีเงินในการปฏิสังขรณ์อารามต่าง ๆ ในส่วนการป้องกันประเทศ ทรงทุ่มเทพระวรกายปกป้องอิทธิพลที่เข้ามารุกรานประเทศทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นในบริเวณลานเจษฎาบดินทร์ ถ.ราชดำเนิน


ที่มา http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7#.E0.B8.9A.E0.B8.97.E0.B8.AA.E0.B8.A3.E0.B8.B8.E0.B8.9B

ว่าด้วยเรื่อง สมเด็จพระศรีสุราลัย




สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีสุราลัย ทรงมีพระนามเดิมว่า “เรียม” ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๒๓ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๓ ที่นิวาสสถานซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณที่เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน พระบิดานามว่าบุญจัน ต่อมาเป็นพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน เจ้าเมืองนนทบุรี พระมารดานามว่าท่านเพ็ง เป็นบุตรีพระยาราชวังสัน (หวัง) กับท่านชู เป็นชาวสวนเขตวัดหนัง จังหวัดธนบุรี
ความตอนหนึ่งในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๒๐ ภาคที่ ๓๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี นับแต่วันประสูติ ปรากฏข้อความที่ทรงพรรณนาถึงพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีสุราลัย ตอนหนึ่งดังนี้

“บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาลำดับพระวงศ์ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงคุณแห่งบรรพบุรุษ และเป็นที่ทรงสังเวชตามพระบรมราชประสงค์ ก็แลลำดับเชื้อวงศ์ซึ่งสืบเนื่องกันมาอย่างไรนั้น ท่านซึ่งเป็นใหญ่ในตระกูลแต่ก่อนๆ มักจะปิดป้องมิให้ผู้น้อยในตระกูลทราบ ด้วยรังเกียจว่า จะไปออกนามเล่นในเวลาไม่ควร ในที่ไม่ควรบ้าง กลัวว่าผู้น้อยจะกำเริบเย่อหยิ่งว่าตัวเนื่องประพันธ์สนิทในท่านผู้มีเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แล้วประพฤติการทุจริตผิดไปต่างๆ ด้วยความทนงใจบ้าง ครั้นเมื่อท่านผู้ใหญ่ล่วงไปแล้ว ผู้น้อยในตระกูลนั้นก็ไม่ทราบเชื้อสายว่ามาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเล่าบอกกันต่อๆ ไปได้ ดังนี้เป็นคติโบราณเคยประพฤติมาโดยมาก ก็แลราชินิกูลข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย อันเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อไต่ถามดูก็ไม่ได้ความตลอดถ้วนถี่ มีเค้ามูลเพียงดังจะได้รับพระราชทานพรรณนาสืบไปนี้มีความว่า พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น มีนามบุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ตั้งเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้ทรงสถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนนทบุรี มีภรรยาใหญ่ซึ่งเป็นพระชนนีกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย มีนามว่าท่านเพ็ง มีแต่พระธิดาองค์เดียว คือกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับอยู่บ้านหลวงเดิมแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นเมื่อเสด็จลงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมก็ตามเสด็จไป ได้ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังเดิม แล้วมีพระราชโอรสอีกสองพระองค์ ทรงพระนามพระองค์เจ้าป้อมพระองค์หนึ่ง อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามพระองค์เจ้าหนูดำ สิ้นพระชนม์เสียแต่ก่อนแล้วทั้งสองพระองค์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังได้ดำรงที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง ชนทั้งปวงออกพระนามว่าเจ้าคุณ และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเป็นกรมนั้นบ้างเป็นครั้งคราว จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ”

พ.ศ. ๒๓๖๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งการพิธีฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง สถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อมา โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทรงสร้างตำหนักตึกถวายเป็นที่ประทับ เมื่อประทับอยู่ในพระตำหนักตึกในบั้นปลายพระชนมชีพของพระองค์นั้น สมเด็จพระศรีสุราลัยทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สดับพระธรรม บูรณะซ่อมสร้างพระอาราม คือวัดหนังในคลองบางขุนเทียนอันเป็นวัดบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระญาติฝ่ายพระราชชนนี นอกจากนั้นยังทรงบำรุงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ๒ พระองค์ขณะทรงพระเยาว์ คือสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าศิริวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าหญิงละม่อม
พระตำหนักนี้ เมื่อสมเด็จพระศรีสุราลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมประทับต่อมา รวมทั้งทรงรับหน้าที่อภิบาลพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ด้วย
สมเด็จพระศรีสุราลัยประชวรไข้พิษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ พระชนมพรรษา ๖๘ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงงานพระเมรุ ดังนี้

“ การพระเมรุกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น พระเมรุขนาดใหญ่เสาเส้น ๑ พระเบญจาหุ้มเงินแล้วเสร็จ แต่จะฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสียก่อน ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ (เสาร์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๑) ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายไตรแพรดวงพุดตาล ผ้ากราบปักอักษรว่า ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์ราชาคณะ พระครูเปรียญฐานานุกรมเพียงพระปลัดสวดพระพุทธมนต์และฉันในพระอุโบสถ ๓ วัน ถวายเครื่องบริกขารอย่างประณีต แต่การฉลองนั้นมีแต่ดอกไม้เพลิงต่างๆ ครั้นวันเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ (อังคารที่ ๒๔ เมษายน) เชิญพระอัฐิกลับ
ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ (๒๖ เมษายน) ได้แห่พระบรมธาตุเข้าสู่พระเมรุ มีงานสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้ว แห่พระบรมธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ (๓๐ เมษายน) เวลาย่ำรุ่ง ได้เชิญพระบรมศพขึ้นยานุมาศ แห่ลงไปแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพน ตั้งกระบวนแห่อย่างใหญ่มีรูปสัตว์ต่างๆ ไปสู่พระเมรุเชิญพระโกศเข้าทางประตูด้านบุริมทิศ เวียนพระเมรุ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นสู่พระเบญจาเงินสลักลายประดับชั้นพระเบญจาทำด้วยทองบ้าง เงินบ้าง พระสงฆ์สวดถวายอภิธรรมและไทยธรรมแก่พระสงฆ์ในกรุงนอกกรุงและหัวเมือง เวลาเช้าเสด็จออกปฏิบัติพระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป พระสงฆ์ทำภัตตกิจแล้วก็สดับปกรณ์แล้วเสร็จไปประทับที่พระที่นั่งทรงธรรม มีธรรมเทศนาโพธิปักขิยธรรม แบ่งเป็นองค์ละ ๔ กัณฑ์ จบธรรมเทศนาแล้วก็เสด็จกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงก็เสด็จออกสู่พระเมรุจุดเครื่องนมัสการธรรม สักการบูชาเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปประทับพลับพลามวย จึงโปรดให้ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์ และมีการมหรสพสมโภชถ้วนครบ ๗ วัน ๗ คืน
ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (วันที่ ๖ พฤษภาคม) เวลาบ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีมุขมนตรีกับหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยพร้อมกัน ได้กราบถวายบังคมถวายพระเพลิง ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เก็บพระบรมอัฐิ เข้าประดิษฐานในพระโกศทองคำกุดั่นประดับพลอย มีการสมโภชพระบรมอัฐิ ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ (พฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม) เวลาเช้าได้เชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ”

การออกพระนามสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเฉลิมพระนามว่า “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บัญญัติ คำนำพระนามสมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สมเด็จพระราชมหาปัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนแปลงพระนามสมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์เสียใหม่ สำหรับ “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” เปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระศรีสุราลัย” .

ที่มา http://www.king3.or.th/KING3/HISTORY%20MOM%20KING3/SUBMAINKING303.php

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553





ศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ นับเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกทั้งคู่ว่า "หม่อมพี่ หม่อมน้อง" นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ยังมีพี่สาวคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (สมรสกับ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี หรือ พินิจ อินทรทูต)

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 กระทรวงวัฒนธรรมของไทย ได้เสนอชื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อองค์การยูเนสโก โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554 โดยได้รับการประกาศพร้อมกันกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้รับในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลพ.ศ. 2553


หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา ทั้ง 6 คน ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นคนที่ 4) โดยชื่อ "คึกฤทธิ์" นั้น มาจากการที่ ชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ หม่อมราชวงศ์หญิงพักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ หม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงหญิง วิสุมิตรา ปราโมช ต่อมาได้แยกกันอยู่กับหม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พักอยู่ที่บ้านในซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยอยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "บ้านซอยสวนพลู"

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นับเป็นบุคคลที่มีบุคลิกและบทบาทที่หลากหลาย มีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการประพันธ์ การแสดง และยังเป็นนักการเมือง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา ต่อมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2493 และก่อตั้งพรรคกิจสังคม เมื่อ พ.ศ. 2517 และได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งที่มีจำนวน ส.ส.ในมือเพียง 18 คน รัฐบาลคึกฤทธิ์ในครั้งนั้นมี นายบุญชู โรจนเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบาย "เงินผัน" เป็นที่รู้จักเลื่องลือทั่วไปในสมัยนั้น

ก่อนดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยรับบทเป็น นายกรัฐมนตรี ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ชื่อว่าประเทศ สารขัณฑ์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) คู่กับมาร์ลอน แบรนโด เมื่อ ปี พ.ศ. 2506 และหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยรับบทเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์ ผู้แทนนอกสภา กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2526

ระหว่างการเล่นการเมือง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองที่ทุกคนรู้จักดี คือ วาทะศิลป์ และบทบาทเป็นที่ชวนให้จดจำ เช่น การผวนพูดเล่นชื่อของตัวเองเมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงอะไร โดยตอบว่า "คึกฤทธิ์ ก็คือ คิดลึก" เป็นต้น

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมาย เช่น "เฒ่าสารพัดพิษ" "ซือแป๋ซอยสวนพลู" ภายหลังเมื่อมีอาวุโสสูงวัย จนสามารถแสดงความเห็นทางการเมือง ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ จึงได้รับฉายาว่า "เสาหลักประชาธิปไตย" นอกจากนี้อีกฉายาหนึ่งที่ใช้เรียก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในบางแห่งคือ "หม่อมป้า"

ในด้านวรรณศิลป์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น สี่แผ่นดิน, ไผ่แดง, กาเหว่าที่บางเพลง, หลายชีวิต, ซูสีไทเฮา, สามก๊กฉบับนายทุน และเรื่องสั้น "มอม" ซึ่งได้ใช้เป็นบทความประกอบแบบเรียนภาษาไทยในปัจจุบัน บางชิ้นมีผู้นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น สี่แผ่นดิน, หลายชีวิต และทำเป็นภาพยนตร์ เช่น กาเหว่าที่บางเพลง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริรวมอายุ 84 ปี 5 เดือน 20 วัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอชื่อให้ท่านเป็น บุคคลสำคัญของโลก กับทาง ยูเนสโก

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต



(ทรงฉายคู่กับ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอรรคราชเทวี ใน ร.๕)



จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔ - ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗) หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหาร ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาธิการทหารบก เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น"พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม" ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่งและเพลงไทยเดิมไว้มากมาย ทรงนิพนธ์เพลง วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงพญาโศก