
สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีสุราลัย ทรงมีพระนามเดิมว่า “เรียม” ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๒๓ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๓ ที่นิวาสสถานซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณที่เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน พระบิดานามว่าบุญจัน ต่อมาเป็นพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน เจ้าเมืองนนทบุรี พระมารดานามว่าท่านเพ็ง เป็นบุตรีพระยาราชวังสัน (หวัง) กับท่านชู เป็นชาวสวนเขตวัดหนัง จังหวัดธนบุรี
ความตอนหนึ่งในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๒๐ ภาคที่ ๓๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี นับแต่วันประสูติ ปรากฏข้อความที่ทรงพรรณนาถึงพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีสุราลัย ตอนหนึ่งดังนี้
“บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาลำดับพระวงศ์ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงคุณแห่งบรรพบุรุษ และเป็นที่ทรงสังเวชตามพระบรมราชประสงค์ ก็แลลำดับเชื้อวงศ์ซึ่งสืบเนื่องกันมาอย่างไรนั้น ท่านซึ่งเป็นใหญ่ในตระกูลแต่ก่อนๆ มักจะปิดป้องมิให้ผู้น้อยในตระกูลทราบ ด้วยรังเกียจว่า จะไปออกนามเล่นในเวลาไม่ควร ในที่ไม่ควรบ้าง กลัวว่าผู้น้อยจะกำเริบเย่อหยิ่งว่าตัวเนื่องประพันธ์สนิทในท่านผู้มีเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แล้วประพฤติการทุจริตผิดไปต่างๆ ด้วยความทนงใจบ้าง ครั้นเมื่อท่านผู้ใหญ่ล่วงไปแล้ว ผู้น้อยในตระกูลนั้นก็ไม่ทราบเชื้อสายว่ามาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเล่าบอกกันต่อๆ ไปได้ ดังนี้เป็นคติโบราณเคยประพฤติมาโดยมาก ก็แลราชินิกูลข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย อันเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อไต่ถามดูก็ไม่ได้ความตลอดถ้วนถี่ มีเค้ามูลเพียงดังจะได้รับพระราชทานพรรณนาสืบไปนี้มีความว่า พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น มีนามบุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ตั้งเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้ทรงสถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนนทบุรี มีภรรยาใหญ่ซึ่งเป็นพระชนนีกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย มีนามว่าท่านเพ็ง มีแต่พระธิดาองค์เดียว คือกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับอยู่บ้านหลวงเดิมแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นเมื่อเสด็จลงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมก็ตามเสด็จไป ได้ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังเดิม แล้วมีพระราชโอรสอีกสองพระองค์ ทรงพระนามพระองค์เจ้าป้อมพระองค์หนึ่ง อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามพระองค์เจ้าหนูดำ สิ้นพระชนม์เสียแต่ก่อนแล้วทั้งสองพระองค์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังได้ดำรงที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง ชนทั้งปวงออกพระนามว่าเจ้าคุณ และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเป็นกรมนั้นบ้างเป็นครั้งคราว จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ”
พ.ศ. ๒๓๖๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งการพิธีฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง สถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อมา โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทรงสร้างตำหนักตึกถวายเป็นที่ประทับ เมื่อประทับอยู่ในพระตำหนักตึกในบั้นปลายพระชนมชีพของพระองค์นั้น สมเด็จพระศรีสุราลัยทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สดับพระธรรม บูรณะซ่อมสร้างพระอาราม คือวัดหนังในคลองบางขุนเทียนอันเป็นวัดบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระญาติฝ่ายพระราชชนนี นอกจากนั้นยังทรงบำรุงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ๒ พระองค์ขณะทรงพระเยาว์ คือสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าศิริวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าหญิงละม่อม
พระตำหนักนี้ เมื่อสมเด็จพระศรีสุราลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมประทับต่อมา รวมทั้งทรงรับหน้าที่อภิบาลพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ด้วย
สมเด็จพระศรีสุราลัยประชวรไข้พิษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ พระชนมพรรษา ๖๘ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงงานพระเมรุ ดังนี้
“ การพระเมรุกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น พระเมรุขนาดใหญ่เสาเส้น ๑ พระเบญจาหุ้มเงินแล้วเสร็จ แต่จะฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสียก่อน ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ (เสาร์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๑) ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายไตรแพรดวงพุดตาล ผ้ากราบปักอักษรว่า ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์ราชาคณะ พระครูเปรียญฐานานุกรมเพียงพระปลัดสวดพระพุทธมนต์และฉันในพระอุโบสถ ๓ วัน ถวายเครื่องบริกขารอย่างประณีต แต่การฉลองนั้นมีแต่ดอกไม้เพลิงต่างๆ ครั้นวันเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ (อังคารที่ ๒๔ เมษายน) เชิญพระอัฐิกลับ
ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ (๒๖ เมษายน) ได้แห่พระบรมธาตุเข้าสู่พระเมรุ มีงานสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้ว แห่พระบรมธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ (๓๐ เมษายน) เวลาย่ำรุ่ง ได้เชิญพระบรมศพขึ้นยานุมาศ แห่ลงไปแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพน ตั้งกระบวนแห่อย่างใหญ่มีรูปสัตว์ต่างๆ ไปสู่พระเมรุเชิญพระโกศเข้าทางประตูด้านบุริมทิศ เวียนพระเมรุ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นสู่พระเบญจาเงินสลักลายประดับชั้นพระเบญจาทำด้วยทองบ้าง เงินบ้าง พระสงฆ์สวดถวายอภิธรรมและไทยธรรมแก่พระสงฆ์ในกรุงนอกกรุงและหัวเมือง เวลาเช้าเสด็จออกปฏิบัติพระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป พระสงฆ์ทำภัตตกิจแล้วก็สดับปกรณ์แล้วเสร็จไปประทับที่พระที่นั่งทรงธรรม มีธรรมเทศนาโพธิปักขิยธรรม แบ่งเป็นองค์ละ ๔ กัณฑ์ จบธรรมเทศนาแล้วก็เสด็จกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงก็เสด็จออกสู่พระเมรุจุดเครื่องนมัสการธรรม สักการบูชาเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปประทับพลับพลามวย จึงโปรดให้ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์ และมีการมหรสพสมโภชถ้วนครบ ๗ วัน ๗ คืน
ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (วันที่ ๖ พฤษภาคม) เวลาบ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีมุขมนตรีกับหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยพร้อมกัน ได้กราบถวายบังคมถวายพระเพลิง ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เก็บพระบรมอัฐิ เข้าประดิษฐานในพระโกศทองคำกุดั่นประดับพลอย มีการสมโภชพระบรมอัฐิ ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ (พฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม) เวลาเช้าได้เชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ”
การออกพระนามสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเฉลิมพระนามว่า “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บัญญัติ คำนำพระนามสมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สมเด็จพระราชมหาปัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนแปลงพระนามสมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์เสียใหม่ สำหรับ “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” เปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระศรีสุราลัย” .
ที่มา http://www.king3.or.th/KING3/HISTORY%20MOM%20KING3/SUBMAINKING303.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น