วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชชสุดา สิริโสภาพัณวดี




พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว โดยพระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน และใช้คำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ออกคำนำหน้าพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ และคำนำหน้าพระนามนี้ยังใช้จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา




พันโท(หญิง) สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518) พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิม คือ คุณประไพ สุจริตกุล เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) เข้ารับราชการฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้ออกการออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาแทน พระองค์สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 สิริพระชนมายุได้ 73 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระหทัยวายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เวลา 07 นาฬิกา 55 นาที สิริพระชนมายุ 73 พรรษา ณ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อย(ต่อมาทรงเลื่อนเป็นพระโกศทองน้อย) ฉัตรตาดทอง 5 ชั้นกางกั้นเหนือพระโกศพระศพ ประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าลายสลัก ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวัน กลางคืน รับพระราชทานฉันเช้าวันละ 8 รูป ฉันเพลวันละ 4 รูป และไว้ทุกข์ในพระราชสำนักกำหนด 15 วัน เมื่อถึงวาระการบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง (7 วัน) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ (50 วัน) และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จแทนพระองค์ (100 วัน)[8] เมื่อถึงวาระพระราชทานเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)




พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าชายทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในเจ้าจอมมารดาเรียม ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชินี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อปี พ.ศ.2349 พระราชบิดาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระมหาอุปราชกรมบวรสถานมงคล จึงได้รับเลื่อนพระยศตามพระราชบิดาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ต่อมาเมื่อพระชนมายุครบผนวชตามพระราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอัยยิกาธิราชโปรดเกล้าฯ จัดพิธีผนวชให้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จออกในพิธีผนวชครั้งนี้ด้วยแม้จะมีอายุถึง 72 พรรษาแล้วก็ตาม ด้วยทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่ในตอนนั้น เมื่อผนวชแล้วทรงเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม

ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 26 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสถาปนาขึ้นดำรงพระยศเจ้ากรมมีพระนามกรมว่า “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ในปี พ.ศ. 2356 ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายแขนงวิชาไม่ว่าจะเป็นด้านพระพุทธศาสนา อักษรศาสตร์ รัฐประสาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพาณิชยศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ทำให้เป็นที่วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้กำกับราชการโดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง เช่น กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจ และยังทรงนับหน้าที่พิจารณาพิพากษาความฎีกาแทนพระองค์อยู่เสมอ ทำให้ทรงรอบรู้ราชการต่าง ๆ ของแผ่นดินเป็นอย่างดี

ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ทรงมิได้มอบพระราชสมบัติให้กับพระราชโอรสพระองค์ใด เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ประชุมปรึกษาหารือแล้วลงมติว่า ควรถวายพระราชสมบัติให้แก่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สืบราชสมบัติแทนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี พระนาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้ความชำนาญทางด้านการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านพ่าง ๆ ที่นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นเอนกอนันต์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมิได้สถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นพระบรมราชินี คงมีแต่เพียงเจ้าจอมมารดา และสนมเอกเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิมาน องค์ข้างตะวันตก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สิริพระชนมายุได้ 63 พรรษา 2 วัน รวมเวลาที่ทรงครองอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นเวลา 26 ปี 8 เดือน

บทสรุป
พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศอย่างเอนกอนันต์ ด้วยเมื่อทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนฐานะของประเทศดีขึ้นอย่างมาก ทรงติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศอย่างมาก ทำให้มีเงินในการปฏิสังขรณ์อารามต่าง ๆ ในส่วนการป้องกันประเทศ ทรงทุ่มเทพระวรกายปกป้องอิทธิพลที่เข้ามารุกรานประเทศทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นในบริเวณลานเจษฎาบดินทร์ ถ.ราชดำเนิน


ที่มา http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7#.E0.B8.9A.E0.B8.97.E0.B8.AA.E0.B8.A3.E0.B8.B8.E0.B8.9B

ว่าด้วยเรื่อง สมเด็จพระศรีสุราลัย




สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระศรีสุราลัย ทรงมีพระนามเดิมว่า “เรียม” ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๒๓ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๓ ที่นิวาสสถานซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณที่เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน พระบิดานามว่าบุญจัน ต่อมาเป็นพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน เจ้าเมืองนนทบุรี พระมารดานามว่าท่านเพ็ง เป็นบุตรีพระยาราชวังสัน (หวัง) กับท่านชู เป็นชาวสวนเขตวัดหนัง จังหวัดธนบุรี
ความตอนหนึ่งในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๒๐ ภาคที่ ๓๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี นับแต่วันประสูติ ปรากฏข้อความที่ทรงพรรณนาถึงพระราชประวัติ สมเด็จพระศรีสุราลัย ตอนหนึ่งดังนี้

“บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาลำดับพระวงศ์ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงคุณแห่งบรรพบุรุษ และเป็นที่ทรงสังเวชตามพระบรมราชประสงค์ ก็แลลำดับเชื้อวงศ์ซึ่งสืบเนื่องกันมาอย่างไรนั้น ท่านซึ่งเป็นใหญ่ในตระกูลแต่ก่อนๆ มักจะปิดป้องมิให้ผู้น้อยในตระกูลทราบ ด้วยรังเกียจว่า จะไปออกนามเล่นในเวลาไม่ควร ในที่ไม่ควรบ้าง กลัวว่าผู้น้อยจะกำเริบเย่อหยิ่งว่าตัวเนื่องประพันธ์สนิทในท่านผู้มีเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แล้วประพฤติการทุจริตผิดไปต่างๆ ด้วยความทนงใจบ้าง ครั้นเมื่อท่านผู้ใหญ่ล่วงไปแล้ว ผู้น้อยในตระกูลนั้นก็ไม่ทราบเชื้อสายว่ามาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเล่าบอกกันต่อๆ ไปได้ ดังนี้เป็นคติโบราณเคยประพฤติมาโดยมาก ก็แลราชินิกูลข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย อันเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อไต่ถามดูก็ไม่ได้ความตลอดถ้วนถี่ มีเค้ามูลเพียงดังจะได้รับพระราชทานพรรณนาสืบไปนี้มีความว่า พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น มีนามบุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ตั้งเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้ทรงสถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนนทบุรี มีภรรยาใหญ่ซึ่งเป็นพระชนนีกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย มีนามว่าท่านเพ็ง มีแต่พระธิดาองค์เดียว คือกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย ได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับอยู่บ้านหลวงเดิมแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นเมื่อเสด็จลงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมก็ตามเสด็จไป ได้ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังเดิม แล้วมีพระราชโอรสอีกสองพระองค์ ทรงพระนามพระองค์เจ้าป้อมพระองค์หนึ่ง อีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามพระองค์เจ้าหนูดำ สิ้นพระชนม์เสียแต่ก่อนแล้วทั้งสองพระองค์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังได้ดำรงที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง ชนทั้งปวงออกพระนามว่าเจ้าคุณ และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเป็นกรมนั้นบ้างเป็นครั้งคราว จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ”

พ.ศ. ๒๓๖๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งการพิธีฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง สถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อมา โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทรงสร้างตำหนักตึกถวายเป็นที่ประทับ เมื่อประทับอยู่ในพระตำหนักตึกในบั้นปลายพระชนมชีพของพระองค์นั้น สมเด็จพระศรีสุราลัยทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สดับพระธรรม บูรณะซ่อมสร้างพระอาราม คือวัดหนังในคลองบางขุนเทียนอันเป็นวัดบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระญาติฝ่ายพระราชชนนี นอกจากนั้นยังทรงบำรุงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ๒ พระองค์ขณะทรงพระเยาว์ คือสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าศิริวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น พระองค์เจ้าหญิงละม่อม
พระตำหนักนี้ เมื่อสมเด็จพระศรีสุราลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมประทับต่อมา รวมทั้งทรงรับหน้าที่อภิบาลพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ด้วย
สมเด็จพระศรีสุราลัยประชวรไข้พิษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ พระชนมพรรษา ๖๘ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงงานพระเมรุ ดังนี้

“ การพระเมรุกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น พระเมรุขนาดใหญ่เสาเส้น ๑ พระเบญจาหุ้มเงินแล้วเสร็จ แต่จะฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสียก่อน ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ (เสาร์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๑) ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถวายไตรแพรดวงพุดตาล ผ้ากราบปักอักษรว่า ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์ราชาคณะ พระครูเปรียญฐานานุกรมเพียงพระปลัดสวดพระพุทธมนต์และฉันในพระอุโบสถ ๓ วัน ถวายเครื่องบริกขารอย่างประณีต แต่การฉลองนั้นมีแต่ดอกไม้เพลิงต่างๆ ครั้นวันเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ (อังคารที่ ๒๔ เมษายน) เชิญพระอัฐิกลับ
ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ (๒๖ เมษายน) ได้แห่พระบรมธาตุเข้าสู่พระเมรุ มีงานสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้ว แห่พระบรมธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ (๓๐ เมษายน) เวลาย่ำรุ่ง ได้เชิญพระบรมศพขึ้นยานุมาศ แห่ลงไปแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพน ตั้งกระบวนแห่อย่างใหญ่มีรูปสัตว์ต่างๆ ไปสู่พระเมรุเชิญพระโกศเข้าทางประตูด้านบุริมทิศ เวียนพระเมรุ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นสู่พระเบญจาเงินสลักลายประดับชั้นพระเบญจาทำด้วยทองบ้าง เงินบ้าง พระสงฆ์สวดถวายอภิธรรมและไทยธรรมแก่พระสงฆ์ในกรุงนอกกรุงและหัวเมือง เวลาเช้าเสด็จออกปฏิบัติพระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป พระสงฆ์ทำภัตตกิจแล้วก็สดับปกรณ์แล้วเสร็จไปประทับที่พระที่นั่งทรงธรรม มีธรรมเทศนาโพธิปักขิยธรรม แบ่งเป็นองค์ละ ๔ กัณฑ์ จบธรรมเทศนาแล้วก็เสด็จกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงก็เสด็จออกสู่พระเมรุจุดเครื่องนมัสการธรรม สักการบูชาเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปประทับพลับพลามวย จึงโปรดให้ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์ และมีการมหรสพสมโภชถ้วนครบ ๗ วัน ๗ คืน
ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (วันที่ ๖ พฤษภาคม) เวลาบ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีมุขมนตรีกับหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยพร้อมกัน ได้กราบถวายบังคมถวายพระเพลิง ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เก็บพระบรมอัฐิ เข้าประดิษฐานในพระโกศทองคำกุดั่นประดับพลอย มีการสมโภชพระบรมอัฐิ ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ เดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ (พฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม) เวลาเช้าได้เชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ”

การออกพระนามสมเด็จพระศรีสุราลัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเฉลิมพระนามว่า “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บัญญัติ คำนำพระนามสมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สมเด็จพระราชมหาปัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนแปลงพระนามสมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์เสียใหม่ สำหรับ “กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย” เปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระศรีสุราลัย” .

ที่มา http://www.king3.or.th/KING3/HISTORY%20MOM%20KING3/SUBMAINKING303.php